โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร ได้รับการคิดค้นและพัฒนาโดย กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นโปรแกรมครบวงจรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารงาน ตลอดจนเพิ่มความรวดเร็วในการปิดบัญชีของสหกรณ์ ที่ผู้สอบบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์สามารถเข้าตรวจสอบได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้สมาชิกได้รับเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืนที่รวดเร็วทันใจ
โปรแกรมนี้มีจุดเด่นเฉพาะ คือ รองรับธุรกิจของสหกรณ์ทุกประเภท ตั้งแต่การสมัครสมาชิก การให้กู้ การรับชำระหนี้เงินกู้ การถือหุ้น การให้สินเชื่อ การรับฝาก การถอนเงิน การซื้อขายสินค้า และสามารถประยุกต์ใช้กับการรวบรวมผลผลิตด้วย อีกทั้งยังรองรับด้านการจัดทำบัญชี ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำเอกสารประกอบการลงบัญชี เช่น การออกใบเสร็จให้ทันที การบันทึกรายการในสมุดขั้นต้น การบันทึกรายการบัญชีแยกประเภท จัดทำบัญชีย่อย ทำทะเบียนต่างๆ จัดทำงบการเงิน รวมทั้งสามารถวิเคราะห์งบการเงินได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีสหกรณ์ที่ใช้โปรแกรมระบบบัญชีแล้วกว่า 2,400 แห่งคิดเป็นร้อยละ 36.92 ของสหกรณ์ทั่วประเทศ 6,500 แห่ง แบ่งเป็นสหกรณ์ที่ใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจรกว่า 1,800 แห่ง และสหกรณ์ที่ใช้บางระบบอีกประมาณ 600 แห่ง
นายสิงห์ทอง ชินวรรังสี อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สหกรณ์ใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร มาเพิ่มศักยภาพในการบริหารงานสหกรณ์ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และเกิดเครือข่ายสหกรณ์ที่ใช้โปรแกรมฯ จึงได้จัดให้มีสหกรณ์ต้นแบบการใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจรขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการงานของสหกรณ์ และเป็นเครือข่ายของกรมฯ ในการให้คำปรึกษาแนะนำวิธีการใช้โปรแกรมดังกล่าวให้แก่สหกรณ์อื่นที่สนใจ
ที่ผ่านมามีสหกรณ์ทุกประเภททั่วประเทศสมัครใจเข้าร่วมเป็นสหกรณ์ต้นแบบแล้ว จำนวน 137 แห่ง แบ่งออกเป็น สหกรณ์การเกษตร 88 แห่ง สหกรณ์ออมทรัพย์ 37 แห่ง สหกรณ์บริการ 4 แห่ง สหกรณ์นิคม 3 แห่ง สหกรณ์ประมง 2 แห่ง สหกรณ์ร้านค้า 2 แห่ง และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 1 แห่ง ทางด้าน นายวิชัย อินต๊ะวงศ์ ประธานสหกรณ์การเกษตรเขาขาว จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในสหกรณ์ต้นแบบการใช้โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร เล่าว่า เดิมสหกรณ์ใช้มือในการจดบันทึกและทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ซึ่งมีความล่าช้าและมีข้อผิดพลาดตลอด แต่หลังจากที่สหกรณ์ได้นำโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจรมาช่วยในการบริหารงานให้ครอบคลุมทุกธุรกิจของสหกรณ์ พบว่าการบริหารงานของสหกรณ์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การรับฝาก-ถอนเงิน การควบคุมและจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์ ช่วยให้สหกรณ์มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการบริหารงานได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที
ส่วน นางกุสุมา ขัตติยะวรา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรสูงเม่น จำกัด จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสหกรณ์ต้นแบบ บอกว่า สหกรณ์ได้ติดตั้งและใช้งานโปรแกรมระบบสินค้าเป็นระบบแรกเมื่อปี 2547 และติดตั้งใช้งานครบทุกระบบเมื่อปี 2552 ปัจจุบันสหกรณ์ปรับเปลี่ยนระบบการใช้งานได้เต็มรูปแบบ จะเห็นได้ว่าสหกรณ์ต้นแบบการใช้โปร แกรมระบบบัญชีครบวงจรและสหกรณ์ที่มีโอกาสได้ใช้งานโปรแกรมฯ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้พัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการบริหารจัดการสหกรณ์ทั่วประเทศ ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของสหกรณ์ที่จะเติบโตก้าวหน้าอย่างมั่นคง หากสหกรณ์ใดสนใจการดำเนินงานของสหกรณ์ต้นแบบสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและศึกษาดูงานได้ที่สหกรณ์โดยตรง หรือติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ประจำจังหวัดทั่วประเทศได้ในวันและเวลาราชการ
ที่มา : คอลัมน์ ทิศทางเกษตร หนังสือพิมพ์ เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 สิงหาคม 2554 |